ถ้าพูดถึง ‘กระเทียม’ เป็นต้องนึกถึงแดร็กคูลา เพราะกระเทียมคือ ตัวปราบผีดูดเลือด แต่จริงๆ แล้ว กระเทียมเป็นของที่อยู่คู่ครัวมานมนาน การทำต้มผัดแกงทอดบางอย่างหากขาดกระเทียมก็จะไม่ถึงรส ยิ่งไปกว่านั้น กระเทียมยังเป็นพืชสมุนไพรที่เรียกว่าไร้เทียมทานอีกด้วย ถึงตรงนี้ คุณอยากจะรู้หรือยังว่า กระเทียม…ไร้เทียมทานอย่างไร เชิญเลย…
กระเทียมมีสรรพคุณที่น่าทึ่งมากคือ สามารถฆ่าเชื้อราที่ผิวหนัง ผม ขน ได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง ช่วยยับยั้งเชื้อที่ทำให้เกิดฝีหนอง เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เชื้อวัณโรคและเชื้อปอดบวม แล้วยังใช้รักษาแผลสดได้ด้วย
กระเทียมยังสามารถฆ่าหรือยับบั้งเชื้อแบคทีเรียได้แทบทุกชนิด เพราะในกระเทียมมีสารอัลลิซินที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้ถึง 15 ชนิด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียกลุ่มทีดื้อยาเพนนิซิลิน แล้วในกระเทียมก็มีสารกาลิซิน ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อบิดมีตัวที่มีพิษต่อลำไส้และสามารถยับยั้งเชื้อบิดเทียม โดยไม่รบกวนแบคทีเรียตัวอื่นที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ กระเทียมยังฆ่าเชื้อยีสต์ชนิดที่ทำให้เกิดลิ้นขาวในเด็กทารกและทำให้เกิดโรคมุตกิดระดูขาว ซึ่งมักจะเกิดกับหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดระดับความดันเลือด ป้องกันการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยบรรเทาอาการอักเสบของแผลในกระเพาะอาหารแถมยังช่วยลดอาการแน่นจุกเสียด แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย กระเทียมสามารถช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด โรคไอกรน โรคหลอดลมและโรคหอบหืด นอกจากนี้ กระเทียมก็ยังขับพยาธิได้หลายชนิด ได้แก่ พยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้ายและพยาธิไส้เดือนด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น กระเทียมมีฤทธิ์ในการช่วยสมานแผล เพราะช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวและคอลลาเจน แล้วกระเทียมยังสามารถแก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกและเท้าแพลงได้ เพราะสารอัลลิซินคือตัวช่วยที่ทำให้เลือดไหลเวียนและต้านการอักเสบ
ด้านแพทย์แผนไทยก็ได้นำกระเทียมไปเป็นส่วนผสมในตำรับยา เพื่อช่วยขับเสมหะ มีฤทธิ์ขับเหงื่อและขับปัสสาวะ รวมไปถึงในตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุไฟ กระตุ้นการเผาผลาญ ซึ่งสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ ส่วนน้ำมันกระเทียมและน้ำมันหอมระเหยจากกระเทียมก็มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในช่องปาก หู และผิวหนัง
การรับประทานกระเทียมให้ได้ประโยชน์อย่างสูงมีดังนี้
– ให้รับประทานกระเทียมประกอบไปกับมื้ออาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถรับประทานได้วันละ 1-2 มื้อ
จำนวน 3-5 กลีบต่อมื้อ หรือ ประมาณ 4 กรัมต่อวัน ไม่ควรจะรับประทานมากกว่านี้ เพราะอาจจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดแข็งตัวช้าหรือเลือดไหลไม่หยุด
– ควรจะรับประทานกระเทียมให้ปริมาณคงที่และสม่ำเสมอ เพื่อให้การดูดซึมสารสำคัญของกระเทียมนำไปใช้ใน
ร่างกายได้อย่างคงที่ ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันโรคหวัดและลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล ช่วยการเผาผลาญอาหารอีกด้วย
แม้กระเทียมจะมีประโยชน์มาก แต่การรับประทานกระเทียมก็มีข้อควรระวังเช่นกัน
1. สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรควรจะรับประทานกระเทียมในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
2. เด็กควรจะรับประทานกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสมและควรจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
3. การรับประทานกระเทียมสดหรือกระเทียมแคปซูลเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในสมอง
เลือดหยุดช้าหรือเลือดไหลไม่หยุด เพราะในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดและยับยั้งการเกาะกันของเม็ดเลือด
4. หากรับประทานยาประเภทต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดและยาบางชนิด เช่น
ยาแอสไพรินและยาอินโดเมทาซิน ควรจะระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียม
5. บางคนอาจจะมีการแพ้กระเทียม โดยอาจจะเกิดอาการคลื่นไส้ หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวจะ
หายไปเองภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง
6. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือระบบการย่อยอาหารควรจะหลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียม เพราะ
อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
7. ผู้ที่มีระดับความดันเลือดต่ำ (ความดันต่ำ) การรับประทานกระเทียมอาจจะทำให้ระดับความดันเลือดต่ำลงกว่า
ปกติได้ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยง
8. ผู้ที่มีการวางแผนจะเข้ารับการผ่าตัด ควรจะหยุดรับประทานกระเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะกระเทียม
อาจจะทำให้เลือดออกมากและส่งผลต่อความดันเลือดระหว่างการผ่าตัด
9. ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาโรค เช่น ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ยาคุมกำเนิด ไม่ควร
จะรับประทานกระเทียม
10. ผู้ที่ต้องทำงานหรือต้องอยู่ในครัว เพื่อทำอาหารและได้สัมผัสกระเทียมเป็นประจำ อาจจะเกิดอาการผิวหนัง
อักเสบได้ โดยจะมีตุ่มน้ำขึ้นบริเวณที่สัมผัสกระเทียม ฉะนั้นควรจะหลีกเลียงการสัมผัสกระเทียมด้วยการสวมถุงมือทุกครั้ง
วิธีเลือกซื้อกระเทียมสำหรับปรุงอาหาร ควรจะเลือกกระเทียมที่หัวแน่นๆ ไม่ฝ่อ มีเปลือกบาง เนื้อสีเหลืองอ่อน ไม่เน่า ไม่มีราขึ้น หากอยากจะกระเทียมที่มีรสแรงๆ ก็ควรจะเลือกกระเทียมหัวเล็ก
การใช้หรือรับประทานกระเทียมพึงรู้ว่า กระเทียมยิ่งสดก็ยิ่งมีสรรพคุณที่ดีมาก ส่วนกระเทียมที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีต่างๆ หรือผ่านการหมักดองจะทำให้วิตามินและสารอัลลิซินในกระเทียมสลายตัวไป แล้วสำหรับวิตามินและแร่ธาตุที่อยู่ในกระเทียมจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับดินและสภาพอากาศในการเพาะปลูกอีกด้วย
เห็นความไร้เทียมทานของกระเทียมแล้วก็เลือกรับประทานให้พอเหมาะพอดีกับร่างกาย เพื่อจะได้รับประโยชน์มากที่สุดแบบที่ไม่มีความเสียหายเลยนะจ๊ะ